วันเสาร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2560

นั่งรถจักรไอน้ำ ย้อนวันวานที่อยุธยา




ทริปรถจักรไอน้ำ เป็นทริปท่องเที่ยวพิเศษ ที่จัดขึ้นโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยจะมีแค่ปีละ 5 ครั้งเท่านั้นค่ะ คือวันที่...

26 มี.ค. วันคล้ายวันสถาปนากิจการรถไฟ (อาจเปลี่ยนเป็นวันอื่น เพื่อให้ตรงกับวันหยุด)
28 ก.ค. วันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัววชิราลงกรณฯ
12 ส.ค. วันแม่แห่งชาติ
23 ต.ค. วันปิยมหาราช
5 ธ.ค. วันพ่อแห่งชาติ

นับเป็นโอกาสอันดี ที่คนไทย (และชาวต่างชาติ) จะได้ยลโฉม หรือนั่งรถไฟที่ลากโดยหัวรถจักรไอน้ำ ที่ปลดระวางไปนานแล้วกันค่ะ


แต่ละครั้งที่ไปจะมีจุดหมายปลายทางที่แตกต่างกัน เท่าที่รู้มา จะไปอยู่ 3 จังหวัด คือ อยุธยา นครปฐม และฉะเชิงเทราค่ะ แต่เราไม่แน่ใจว่าวันไหนจะไปที่ไหนนะคะ


สำหรับทริปนี้จะพาไปที่อยุธยา เมืองเก่าของเราแต่ก่อนค่ะ








ทริปนี้เปิดให้จองตั๋วล่วงหน้าประมาณ 1 เดือนกว่าๆ ค่ะ โดยจะจัดร่วมกับทัวร์ ราคาตั๋วมีสองราคา คือ

250 บาท สำหรับตั๋วรถอย่างเดียว
999 บาท สำหรับตั๋วรถไฟพร้อมบริการทัวร์

โดยตั๋วทั้งสองราคาจะมีบริการอาหารเช้า และอาหารว่างให้ทั้งขาไปขากลับค่ะ


ข้อดีของการไปกับทัวร์คือสะดวกค่ะ ไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องคิดอะไรมาก เขาจัดการให้หมด และคงไม่เหนื่อยนักด้วย
ส่วนข้อดีของการเที่ยวเอง คือ อาจได้ราคาถูกกว่า มีอิสระมากกว่า อยากไปไหนก็ไป อยากแช่ที่ไหนนานๆ ก็ได้ แต่อาจจะเหนื่อยหน่อยนะคะ







เวลารถออกคือ 8:10 เราขึ้น MRT มาลงสถานีหัวลำโพง มาถึงประมาณ 8 โมง ถือว่าฉิวเฉียดอยู่ค่ะ


รถของเราอยู่ที่ชานชาลาที่ 5



มีทั้งหมด 10 ตู้ค่ะ




ถึงจะสายแล้ว แต่ก็ยังพอมีเวลาถ่ายหัวรถจักรอยู่ค่ะ
(วิ่งมารัวชัตเตอร์ 3-4 รูป แล้วก็วิ่งขึ้นรถ ตู้เราอยู่กลางขบวน ก็ใช้วิธีเดินบนรถเอาค่ะ)




รถจักรไอน้ำตอนกำลังจะออกตัวก็จะพ่นไอน้ำฟู่ๆ ออกมาแบบนี้แหละค่ะ




รถออกแล้วค่ะ ความเร็วสูงสุดที่ปู่ทำได้คือไม่เกิน 55 กม./ชม. ค่ะ เพราะฉะนั้น เราจะนั่งรถไฟไปแบบหวานเย็นกันค่ะ งานนี้เราไม่เน้นความเร็ว แต่เน้นประสบการณ์ในการเดินทางค่ะ ข้อดีของการนั่งรถไฟช้าๆ คือ ตัวไม่ค่อยเหม็นกลิ่นสนิมค่ะ และโดนฝุ่นเกาะน้อยกว่าด้วย ระหว่างทางปู่จะเปิดหวีดเรื่อยๆ เสียงหวีดของปู่ก็โหยหวนไม่เหมือนใคร



รถเป็นรถนั่งพัดลมชั้น 3 รุ่นปรับปรุงใหม่ค่ะ
(ขอเอารูปเก่ามาใช้ เพราะรอบนี้ไม่ได้ถ่าย)







ตั๋วรถไฟ เขาขายเป็นตั๋วไปกลับนะคะ เราซื้อเป็นตั๋วอย่างเดียวแล้วไปเที่ยวเอง ราคา 250 บาทค่ะ รอบนี้นอกจากพนักงานตรวจตั๋วของการรถไฟแล้ว เจ้าหน้าที่ทัวร์เขาจะมาเช็คตั๋วเราด้วยค่ะ และเหมือนจะต้องลงชื่อและเบอร์โทรผู้โดยสารให้ตรงตามที่นั่งด้วย






อาหารเช้าที่แจกบนรถ เป็นข้าวเหนียวหมูทอดโพธิ์งามกับน้ำดื่มบรรจุขวดค่ะ เหมือนจะแจกตั้งแต่รถยังไม่ออก ตอนเราขึ้นมาบนรถ รถก็ออกพอดี และเราก็เห็นบางคนนั่งจ้วงข้าวเหนียวกันแล้วค่ะ




ข้าวเหนียวหมูทอด ใส่กระเทียมเจียวมาด้วย ซึ่งเราชอบมาก ของเขาอร่อยดีนะคะ แต่เราไม่เข้าใจว่าทำไมต้องเอาข้าวเหนียวใส่ถุงพลาสติก แล้วโปะหมูไว้ข้างนอก มันกินยากอะ มือเลอะอีก โชคดีของเราแค่เอาพลาสติกพันข้าวเหนียวไว้เฉยๆ เลยแกะง่ายหน่อย แต่เห็นของบางคนเขาใส่ถุงน่ะค่ะ





รถมาจอดที่สถานีบางเขน ที่ติดใจเราคือเขาพ่นเลขชานชาลากับเลขรถไว้บนเสา แล้วจอดตรงด้วยค่ะ ไม่ได้พ่นเล่นๆ สินะเนี่ย






รถออกมาได้สักระยะ (น่าจะประมาณสถานีรังสิต) เขาก็แจกอาหารว่างค่ะ เป็นขนมตาลกับชาเขียวโออิชิ จริงๆ มีรสอื่นด้วยนะคะ แต่เราได้รสนี้มาค่ะ



ขนมตาล แกะออกมาเป็นแบบนี้




แล้วก็แจกลูกอม เราไม่ค่อยกินลูกอมเท่าไหร่ แต่ก็หยิบติดไว้ เผื่อร่างกายต้องการน้ำตาลระหว่างเที่ยว





กินเสร็จไม่มีอะไรทำก็นั่งชมวิวข้างทางไปค่ะ









มาถึงสถานีอยุธยาประมาณ 10 โมงครึ่ง ที่สถานีจะมีคณะรำวงมารอต้อนรับ แต่เราไม่ได้เข้าไปดูหรอกค่ะ พอรถจอดปล่อยให้ลงก็รีบพุ่งไปหาหัวรถจักรเลย


คนเยอะมากค่ะ ทั้งผู้โดยสารที่มากับรถ ทั้งคนที่อยู่ที่สถานี ทั้งนักท่องเที่ยวที่อยู่แถวๆ นี้




หัวรถจักรยาวมากค่ะ ตอนแรกก็คิดว่ามันยาวแปลกๆ แต่พอสังเกตดีๆ จะพบว่าเขาใช้สองหัวช่วยกันลากค่ะ หัวที่นำในขามานี้จะเป็นเบอร์ 824 ค่ะ




บนห้องขับนี่เขาให้ขึ้นไปดูได้ด้วยนะคะ คุณเจ้าหน้าที่เห็นเรายืนด้อมๆ มองๆ อยู่ เลยเรียกให้ขึ้นไป สูงมากค่ะ ยิ่งไม่ได้ขึ้นจากชานชาลายิ่งลำบาก ในห้องขับก็แคบมาก ลำพังแค่เจ้าหน้าที่ก็แน่นแล้ว คนนอกเลยขึ้นไปได้แค่ทีละไม่กี่คนค่ะ




นี่รถไฟหรือเจ้าแม่ตะเคียน พวงมาลัยเต็มไปหมด วาล์วอะไรก็ไม่รู้เยอะมากค่ะ ดูต้องใช้ความละเอียดสูงในการควบคุม เผื่อใครสงสัย รถจักรไอน้ำนี่เขาใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงต้มน้ำนะคะ




ตรงเก้าอี้นี่เขาให้นั่งถ่ายรูปได้ค่ะ คุณเจ้าหน้าที่เห็นเรามาคนเดียวเลยเสนอถ่ายรูปให้ แต่วันนี้เรารู้สึกว่าตัวเองไม่สวย เลยปฏิเสธไปค่ะ ไม่อยากเห็นให้แสลงใจแล้วต้องมานั่งลบทิ้งอีก




ล้อรถไฟ เห็นเขาถ่ายกัน เราเลยถ่ายมั่ง




ป้ายข้างรถ




หัวรถจักรวิ่งผ่านมา




The Station ร้านกาแฟตรงสถานีอยุธยา ดูน่าสนใจดีค่ะ ถ้ามีเวลาก็น่าลองเข้าไปดูเหมือนกัน







ถ่ายรูปรถไฟพอใจแล้วก็ได้เวลาเที่ยวค่ะ ออกมาด้านหน้าสถานี มีตุ๊กตุ๊กจอดเต็มเลยค่ะ ก็เมืองท่องเที่ยวนี่นะ แต่ก็ไม่รู้ค่าบริการอะไรของเขาหรอกนะคะ ตุ๊กตุ๊กที่นี่จะหน้าตาป้อมๆ น่ารักดีค่ะ และเราก็เพิ่งมารู้ทีหลังว่าเขาเรียกว่าตุ๊กตุ๊กหน้ากบ



ข้ามถนนมาซอยตรงข้ามสถานีรถไฟ มีจักรยานให้เช่า คันละ 30 บาท น่าจะใช้ได้ทั้งวันจนกว่าร้านจะปิดนะคะ



ด้วยความอยากรู้อยากเห็น เลยลองเดินเข้าไปดูในซอยค่ะ ในซอยยังมีร้านอื่นอีก ราคาก็เท่ากันแหละค่ะ มีโรงแรม น่าจะเป็นแนวๆ โฮสเทล มีซากตึกไม้ถูกไฟไหม้ และมีน้ำอยู่ตรงสุดทาง เป็นแม่น้ำป่าสักค่ะ


เราลองเดินไปจนสุดทาง แล้วก็เจอท่าเรือข้ามฟากค่ะ รู้สึกเหมือนสวรรค์มาโปรดเลยแหละค่ะ เรามาที่นี่แบบ no plan แทบไม่ได้หาข้อมูลอะไรมาเลยค่ะ รู้แค่ว่ามีจักรยานให้เช่าปั่นเที่ยว เปิด Google Maps ดูสถานที่ท่องเที่ยว เห็นว่าน่าจะปั่นไปได้ แต่ต้องข้ามสะพานไปก่อน เราไม่ได้ซูมแบบสุดๆ ดู เลยไม่รู้ว่าตรงนี้มีท่าเรือข้ามฟากด้วย


เห็นตรงที่มีคนยืนอยู่มั้ยคะ ตรงนั้นเป็นโต๊ะเก็บค่าเรือค่ะ คนละ 5 บาท เท่ากันหมดทั้งไทยและต่างชาติค่ะ จะข้ามไปฝั่งโน้นก็ต้องจ่ายเงินตรงนี้ หรือถ้าข้ามมาจากฝั่งโน้นก็ต้องมาจ่ายเงินตรงนี้ค่ะ




มีบริการล่องเรือเที่ยวรอบเกาะอยุธยาด้วยค่ะ เป็นจอยทริป เดินทางร่วมกับคนอื่น เดินทางช่วง 16:00 - 18:00 ใช้เวลา 2 ชั่วโมง พาแวะ 3 วัด ได้แก่ วัดพนัญเชิงวรวิหาร วัดพุทไธศวรรย์ และวัดไชยวัฒนารามค่ะ ไม่ได้ติดราคาไว้ และเราก็ไม่ได้ถามซะด้วย




เกี่ยวกับเรือข้ามฟากค่ะ

ค่าเรือคนละ 5 บาท
(เป็นราคาเที่ยวเดียว ไม่ใช่ไปกลับ)

เอาจักรยานไปด้วย คิดเพิ่มอีก 5 บาท รวมเป็น 10 บาท และนี่คือค่าเอาจักรยานข้ามไปกับเรือ ไม่ใช่ค่าเรือ + ค่าเช่าจักรยาน เพราะจักรยานมันกินที่ ถ้าไม่อยากจ่ายเพิ่มก็ปั่นจักรยานอ้อมไปข้ามสะพานเอาเอง หรือไม่ก็ไปเช่าจักรยานฝั่งโน้นค่ะ

จริงๆ เราว่าห้าบาทสิบบาทนี่ไม่แพงเลยนะคะ แต่ก็ต้องยอมรับว่าชาวต่างชาติที่คาดหวังจะได้ของถูกสุดๆ จนแทบจะได้ฟรีที่ไทยนี่มีไม่น้อยเลยแหละค่ะ แหม ไม่โดนเรียกราคาชาวต่างชาติก็ดีแค่ไหนแล้วยู

เวลาเปิดให้บริการ
5:00 - 20:00





ลงเรือมาแล้วค่ะ ท่าเรือเขาดูดีทีเดียวนะ




เห็นโค้งๆ นั่นมั้ยคะ นั่นคือสะพานที่เราต้องข้ามหากไม่ใช้เรือค่ะ ดูความไกลนั่นสิคะ ดีนะที่มาเจอเรือก่อน




ในที่สุด เราก็มาถึงกรุงศรีแล้วค่ะ





ถึงอีกฝั่งแล้วค่ะ ใช้เวลาแค่ 2-3 นาทีเอง เพราะแม่น้ำไม่กว้างเท่าไหร่ เรือจะมาจอดที่ท่าเทียบเรือตลาดเจ้าพรหมค่ะ



นี่คือเรือที่เรานั่งมาค่ะ เป็นเรือไซส์กะทัดรัด ดูแล้วน่าจะมีคนขึ้นตลอด เขาบอกว่าเต็มก็ออก แต่เราเห็นคนขึ้น 3-4 คน เรือก็ออกแล้วค่ะ เหมือนมาส่งแล้วก็รับไป แต่ถ้ามีคนขึ้นแค่คนสองคน เขาก็อาจจะรออีกหน่อยมั้งคะ







ขึ้นมาจากท่าเรือก็เจอร้านเช่าจักรยานเลยค่ะ มีอยู่ 2 ร้าน ราคาเท่ากัน มีทั้งจักรยานและมอเตอร์ไซค์ เช่าขี่ได้ทั้งวันตั้งแต่ 7:00 - 19:00 ค่ะ ค่าเช่าจักรยานอยู่ที่คันละ 50 บาท ส่วนมอเตอร์ไซค์อยู่ที่คันละ 200 บาทค่ะ จักรยานจะมีที่ล็อคให้ด้วย เราขี่มอเตอร์ไซค์ไม่เป็น เลยเลือกเป็นจักรยานค่ะ

เราเลือกเช่าจากร้านที่อยู่ติดท่าเรือค่ะ พี่เจ้าของร้านน่ารักและใจดีมาก มีแผนที่และช่วยแนะนำสถานที่ให้ด้วย แต่เราก็ฟังแบบเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา แย่จริงๆ



ขี่ออกมาตอนแรกเรามีปัญหากับจักรยานนิดหน่อยค่ะ อาจเพราะไม่คุ้น และเราเอากระเป๋าใส่ไว้ในตะกร้าหน้าด้วย (เอาสายคล้องแฮนด์ไว้จะได้ไม่โดนหยิบไปง่ายๆ) หน้ามันอาจจะหนัก เราเลยคุมรถไม่ค่อยอยู่ ทรงตัวไม่ค่อยได้ แต่ขี่ไปสักพักก็เริ่มคุ้นกันค่ะ




ขี่ออกมาจากซอยท่าเรือ เจอตลาดเจ้าพรหมอยู่ฝั่งตรงข้าม




หน้าตลาดมีรถสองแถวรอบเมืองวิ่งผ่าน ไม่ได้ลองนั่ง เลยไม่รู้ว่าราคาเท่าไหร่และไปไหนมั่งนะคะ เท่าที่ดูจากป้าย เห็นว่าผ่านสถานีรถไฟด้วยค่ะ







ที่แรกที่เราจะไปคือ วัดมหาธาตุ ค่ะ ออกมาจากซอยท่าเรือ ตรงเข้าถนนหอรัตนชัย ถึงจะเรียกว่าถนน แต่สภาพดูเหมือนซอยมากกว่าค่ะ ด้วยขนาดถนนที่ไม่ใหญ่นัก และสภาพก็ไม่ได้ดีนักด้วย จุดสังเกตคือร้าน Catwalk ตรงหัวมุมถนนค่ะ เป็นร้านอะไรไม่รู้ แต่ป้ายชื่อร้านเด่นมาก เข้าไปในซอยตรงนั้นเลยค่ะ

ขี่ตรงไปเรื่อยๆ ค่ะ เจอสะพานก็ข้ามแล้วตรงไป เดี๋ยวก็ถึงเอง ไม่ต้องลังเล ไม่ต้องเลี้ยวไปไหน เราลังเลและออกนอกเส้นทางไป กลายเป็นปั่นจักรยานอ้อมเล่นซะงั้น ขี่มาสุดถนนจะมีถนนเส้นที่ผ่านหน้าวัดตัดผ่านค่ะ ก็เลี้ยวขวาไปหาวัดเลย วัดอยู่ฝั่งซ้ายมือพอดี ไม่ต้องข้ามถนนอีกค่ะ


ทางเข้าและป้ายหน้าวัด เรามาวันอาทิตย์ คนเยอะมากค่ะ ที่จอดรถยนต์เต็มด้วย จนคนโบกรถต้องโบกให้ไปทางอื่น




มีที่จอดจักรยานให้ด้วยค่ะ







จะเข้าชมโบราณสถานวัดมหาธาตุต้องซื้อบัตรก่อนนะคะ
คนไทย 10 บาท
ชาวต่างชาติ 50 บาท


เวลาเปิดให้เข้าชม
8:00 - 18:00










ข้อควรปฎิบัติในการเข้าชมโบราณสถาน
  1. ไม่สูบบุหรี่
  2. ไม่ปีนป่ายโบราณสถาน
  3. รักษาความสะอาด
  4. ไม่ขีดเขียน
  5. ไม่นั่งบนโบราณสถาน

นอกจากนี้ ควรแต่งกายให้สุภาพด้วยค่ะ เช่น ไม่นุ่งสั้น ไม่ใส่เสื้อกล้ามหรือสายเดี่ยว

จริงๆ เราแนะนำให้แต่งตัวมิดชิดเลยแหละค่ะ เพราะแดดดุมาก ขนาดเราใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว รองเท้าผ้าใบ ใส่หมวก หลังมือยังไหม้เลยค่ะ กลับมาต้องหาซื้ออโลเวร่ามาทา เพราะมันแดงและแสบไปหมด





ป้ายแสดงข้อมูลวัดมหาธาตุและผังวัดค่ะ


วัดมหาธาตุ

เป็นพระอารามหลวงกลางเมืองอยุธยา สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ

ตามพระราชพงศาวดารกล่าวว่า องค์พระปรางค์ประธานเริ่มสร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 1917 ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิบดีที่ 1 (ขุนหลวงพะงั่ว) แล้วเสร็จในรัชสมัยสมเด็จพระราเมศวร

ในรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรม องค์พระปรางค์ประธานได้พังทลายลงมา และได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ในรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง พ.ศ. 2176

เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2310 วัดมหาธาตุถูกไฟไหม้เสียหายและถูกทิ้งร้าง จนกระทั่งในรัชสมัยรัชกาลที่ 6 องค์พระปรางค์ประธานก็พังทลายลงจนเหลือแต่ฐานค่ะ




แผนผังวัดมหาธาตุ




แบบจำลองวัดมหาธาตุฉบับเต็ม สัมผัสได้ถึงความยิ่งใหญ่อลังการเลยค่ะ



วัดมหาธาตุของจริงที่หลงเหลืออยู่





เศียรพระพุทธรูปในรากไม้ อันเลื่องชื่อ เป็นเศียรพระพุทธรูปที่แตกหักจากองค์พระ แล้วถูกรากโพธิ์ขึ้นล้อมไว้ เป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนกลาง คำนวณช่วงเวลาที่สร้างได้ราวกลางพุทธศตวรรษที่ 21 ค่ะ




เจดีย์ราย หมายเลข 14
เป็นเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมก่ออิฐถือปูน ผสมผสานศิลปะแบบล้านนา ยอดเจดีย์เคยเป็นที่ประดิษฐานสถูปสำริด ปัจจุบันถูกนำไปจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยาค่ะ





ที่นี่เราถ่ายรูปมาได้ไม่มากนักค่ะ หลังจากถ่ายรอบนอกไปได้หน่อยนึงก็เจอปัญหากล้อง overheat มันจะเปิดกล้องไม่ได้ อย่าว่าแต่กล้องที่ overheat เลยค่ะ คนก็ overheat ค่ะ รู้สึกเหงื่อออกเยอะเกินไปจนน่ากลัว และดูเหมือนว่าอุณหภูมิร่างกายก็พุ่งสูงขึ้นจนน่ากลัวเหมือนกัน เลยรีบเดินรีบออกค่ะ แอบเสียดาย ที่นี่ใหญ่มาก ดูมีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ น่าจะเก็บรายละเอียดให้ได้เยอะกว่านี้






ตอนกำลังจะออกจากวัด เจอคุมะมงด้วยค่ะ เพิ่งรู้นะเนี่ย ว่าอยุธยาเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางยอดฮิตของคนญี่ปุ่นที่มาเที่ยวไทย ถึงขนาดที่แผนที่และป้ายต่างๆ ตามสถานที่ท่องเที่ยว มีภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาที่สามเลยแหละค่ะ

แต่นับถือคนใส่ชุดมาสคอตคุมะมงจริงๆ ค่ะ อากาศร้อนขนาดนี้ ขนาดเราที่ใส่เสื้อผ้าฤดูร้อนยังจะแย่เลย






ตรงนี้เรา(แอบ)เรียกว่าโอเอซิสค่ะ เป็นจุดที่มีต้นไม้ใหญ่ปกคลุมหนาแน่น เป็นร่มเงาได้อย่างดี มีน้ำเย็นๆ มีไอติมขาย รวมไปถึงพวกของฝากทั้งหลายด้วยค่ะ ของที่ติดราคาก็คือราคานั้น ส่วนของที่ไม่ติดราคา อาจแยกราคาไทยกับต่างชาติ ส่วนอาคารที่ติดมานิดนึงทางขวานั่นเป็นห้องน้ำค่ะ

ตรงนี้ไม่ค่อยมีที่ให้นั่งค่ะ แถมคนยังเยอะอีก มันเลยไม่เย็นอย่างที่ควรจะเป็น ออกจะอบอ้าวด้วยซ้ำ เราเลยซื้อน้ำเปล่าเย็นๆ ขวดนึง แล้วออกมานั่งข้างนอกค่ะ





ใกล้ๆ วัดมีคลองอยู่ค่ะ เราเลยไปนั่งเล่นใต้ต้นไม้ริมคลอง ลมที่พอมีพัดมาบ้างกับไอเย็นๆ จากน้ำ ช่วยให้รู้สึกดีขึ้นเยอะเลยค่ะ






พักผ่อนจนสบายตัวก็ออกเดินทางต่อค่ะ เอาจักรยานออก แล้วก็ขี่ไปตามทางได้เลย บริเวณรอบๆ วัดมหาธาตุยังมีโบราณสถานวัดเล็กวัดน้อยอยู่อีกเยอะค่ะ



สะพานแดง
ไม่น่าเป็นโบราณสถาน แต่อยากรู้จริงๆ ว่าเขาไปรับวัฒนธรรมนี้มาจากไหน วัดหรือศาลเจ้าญี่ปุ่นที่มีคลองก็มีสะพานแดงเหมือนกัน เพียงแต่เป็นคนละแบบกัน

สะพานพวกนี้สูงทีเดียวค่ะ เราปั่นจักรยานขึ้นไม่ไหว ต้องจูงขึ้นไป แล้วตรงตีนสะพานเป็นยกพื้นด้วย ไม่ใช่ทางลาด ก็ต้องยกจักรยานขึ้นอีก แล้วสะพานแบบนี้มีเยอะมาก (เราไปหาสะพานเองด้วยแหละ) เล่นเอาเหนื่อยเลยค่ะ







อยุธยามหาปราสาท

สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2513 เพื่ออุทิศถวายแด่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ซึ่งเป็นผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยา และวีรกษัตริยาธิราชเจ้าอีก 5 พระองค์ ได้แก่ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ สมเด็จพระสุริโยไท สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระนารายณ์มหาราช และสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

มีลักษณะเป็นอาคารทรงปราสาทยอดสามองค์ติดกัน ภายในปราสาทมีแท่นประดิษฐานพระบรมรูปจำลองของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง)




ชมพูพันธุ์ทิพย์ริมถนนข้างวัด กำลังออกดอกบานเต็มที่เลยค่ะ เราไม่แน่ใจว่ามีอีกมั้ย แต่เราสังเกตเห็นแค่ต้นนี้ต้นเดียว ถ้ามีเยอะๆ รอบๆ วัดมหาธาตุนี่คงเอาไปสู้กับรูปปราสาทญี่ปุ่นในดงซากุระได้สบายๆ เลยค่ะ




วัดหลังคาขาว แต่หลังคาไปไหนแล้วก็ไม่รู้ เหลือแต่เจดีย์

จริงๆ ยังมีอีกเยอะค่ะ แต่เราวนมาแวะดูแค่นี้ เพราะเราเสียเวลากับที่นี่ไปเยอะมาก เดี๋ยวจะไม่มีเวลาไปที่อื่น และคงเพราะที่นี่เป็นที่แรก เลยยังงงๆ เบลอๆ ทำอะไรไม่ถูกอยู่ด้วยค่ะ







สถานีต่อไป วัดหน้าพระเมรุ

ที่เลือกไปที่นี่เพราะเห็นเขาวงไว้ในแผนที่ค่ะ เลยคิดว่าน่าจะมีอะไรน่าสนใจ และดูไม่น่าจะไกลจากที่นี่ ดูไม่น่าไปยากเท่าไหร่ค่ะ

ออกจากวัดมหาธาตุ เลี้ยวซ้ายไปตามถนนหน้าวัด (ในแผนที่เรียกซอยชีกุน แต่เป็นซอยที่ใหญ่มาก) เจอแยกก็ข้ามแยกไปค่ะ ตรงไปเรื่อยๆ จนสุดทาง จะเจอสามแยกตัดกับถนนอู่ทอง เลี้ยวซ้ายเข้าถนนอู่ทองแล้วตรงไปเรื่อยๆ ค่ะ สำหรับระยะจักรยานของคนที่ไม่ได้ขี่จักรยานจริงจังอย่างเรา ถือว่าค่อนข้างไกลอยู่ค่ะ ทางเข้าวัดจะอยู่ทางขวามือค่ะ เป็นสะพานข้าม มีป้ายชื่อวัดอยู่ข้างหน้า

ประมาณนี้แหละค่ะ...



พระอุโบสถ ข้างหน้ามีที่ให้จุดธูปเทียนบูชา โต๊ะจำหน่ายดอกไม้ธูปเทียนก็ตั้งอยู่ใกล้ๆ กันค่ะ




พระพุทธรูปนิมิตรพิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญบรมไตรโลกนาถ
พระประธานขนาดใหญ่ เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องประทับนั่งปางมารวิชัย เรื่องจากมีลักษณะคล้ายกับพระพุทธรูปที่วัดไชยวัฒนาราม ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง จึงเชื่อกันว่าพระพุทธรูปองค์นี้ก็ถูกสร้างขึ้นในสมัยเดียวกันค่ะ

สวดบูชาพระประธานเสร็จ ก็ทำบุญหยอดตู้บริจาคซะหน่อยค่ะ ส่วนใหญ่เราจะหยอดพวกตู้ค่าน้ำ - ค่าไฟ ค่าบำรุงสถานที่ ค่าทุนการศึกษาค่ะ





ส่วนตรงนี้เป็นวิหารน้อยค่ะ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปศิลา อายุ 1,500 ปี



พระพุทธรูปศิลา อายุ 1,500 ปี
บรรยากาศในนี้จะมืดๆ เย็นๆ เหมือนในถ้ำเลยค่ะ


จริงๆ วัดนี้มีเจดีย์ในรากไม้ด้วยค่ะ คล้ายๆ กับเศียรพระพุทธรูปในรากไม้ที่วัดมหาธาตุ แต่เราเพิ่งรู้หลังจากกลับมาแล้ว ก็พลาดสิคะ






ออกมาจากวิหารเริ่มรู้สึกหิว เลยซื้อกล้วยปิ้งเจ้าที่เล็งไว้ตั้งแต่ตอนมาถึงวัดกินซะหน่อยค่ะ ไม้ละ 20 บาท มี 4 ลูกมั้ง มีทั้งแบบนิ่มและแบบแข็ง เราซื้อแบบแข็งมาค่ะ อร่อยดีนะ แล้วก็ถือโอกาสนั่งพักซะด้วยเลย


ตอนนั้นประมาณเกือบๆ บ่ายสามได้ค่ะ แดดที่แรงมาทั้งวันก็เริ่มร่ม บรรยากาศเหมือนฝนจะตกค่ะ แต่ก็ไม่มีเมฆฝน ถือว่าดีเลยค่ะ ฝนไม่ตก แดดไม่ร้อน ค่อยเดินเล่นสบายหน่อย







สถานีต่อไป วัดโลกยสุธา จุดเด่นของวัดนี้คือพระนอนองค์ใหญ่ค่ะ

ออกจากวัดหน้าพระเมรุ เลี้ยวขวาเข้าถนนอู่ทอง ตรงไปเรื่อยๆ ข้ามคลองตรงแยกไป แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนคลองท่อ ที่เป็นถนนเลียบคลองเลยก็ได้ค่ะ จากนั้นก็เลี้ยวขวาเข้าแยกเล็กๆ ขี่ไปตามทาง เดี๋ยวก็เจอทางเข้าวัดทางซ้ายมือค่ะ


นี่คือทางเข้าค่ะ แต่เราไปอีกทาง ซึ่งอ้อมกว่า (หลงทางนั่นเอง) จริงๆ เหมือนจะมีอีกทางด้วยค่ะ





ก่อนถึงวัดโลกยสุธา จะเจอวัดวรเชษฐารามก่อนค่ะ


วัดวรเชษฐาราม
เป็นอีกหนึ่งวัดสำคัญของอยุธยา เชื่อว่าเป็นวัดที่ใช้ประกอบพิธีถวายพระเพลิงพระศพสมเด็จพระนเรศวรมหาราชค่ะ และพระอัฐิของพระองค์ก็อาจถูกบรรจุไว้ในเจดีย์องค์ใดองค์หนึ่งในวัดนี้













ออกเดินทางต่อค่ะ เลี้ยวซ้ายออกจากวัดวรเชษฐาราม ตรงตามทางไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็เจอวัดโลกยสุทธาค่ะ อยู่ติดๆ กันนี่แหละ


ป้ายวัด เห็นหลังองค์พระนอนกับพระปรางค์อยู่ไม่ไกลนัก




ที่นี่มีที่จอดจักรยานให้ด้วยค่ะ




แผนผังวัดโลกยสุธา

วัดโลกยสุธา นี้ ไม่มีหลักฐานปรากฏว่าสร้างขึ้นเมื่อไหร่ แต่จากลักษณะสถาปัตยกรรมของปรางค์ประธานที่คล้ายกับพระปรางค์ที่วัดราชบูรณะ วัดมหาธาตุ และวัดส้ม จึงสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น และจากการขุดค้นทางโบราณคดี พบว่ามีการใช้ประโยชน์พื้นที่ในวัดเรื่อยมาจนถึงตอนปลายของสมัยอยุธยาค่ะ




หลวงพ่อโลกยสุธา
พระพุทธไสยาสน์ปางปรินิพพาน

พระนอนองค์ใหญ่ที่เป็นไฮไลท์ของวัด มีความยาว 42 เมตร สูง 8 เมตร รอบๆ องค์พระปรากฏร่องรอยของเสา 24 ต้น ในลักษณะล้อมรอบองค์พระ ทำให้ทราบว่าเดิมองค์พระนอนนี้ประดิษฐานอยู่ในวิหารค่ะ

ในปี พ.ศ. 2497 ได้มีการบูรณะครั้งใหญ่ และปรับเปลี่ยนเศียรขององค์พระเป็นแบบพระพุทธรูปทรงเครื่อง

ด้านหน้าองค์พระ มีแท่นวางดอกไม้และที่จุดธูปเทียนบูชา รวมทั้งบริเวณลานหน้าองค์พระ ก็มีแม่ค้าตั้งโต๊ะขายดอกไม้ธูปเทียนให้กับผู้มาเยือน บางคนก็เดินขายเลยค่ะ




อุโบสถและปรางค์ประธาน
ส่วนของอุโบสถเหลือแค่ส่วนฐาน รอบๆ มีใบเสมาหินชนวนรูปแบบสมัยอยุธยาตอนต้นตั้งอยู่ 6 ทิศ







เกือบสี่โมงเย็นแล้ว รถออกสี่โมงครึ่ง จริงๆ เราตั้งปลุกไว้ตอนบ่ายสามครึ่ง เพื่อเตือนตัวเองให้กลับไปที่สถานีรถไฟ แต่ก็เลทจนได้ค่ะ ด้วยความรู้สึกว่าการไปแกร่วอยู่สถานีรถไฟเกือบชั่วโมงมันนานเกินไป จะไปนั่ง The Station ก็ไม่ได้อยากขนาดนั้น พอเหลือเวลาแค่ครึ่งชั่วโมงอย่างงี้ต้องรีบปั่นเลยค่ะ เพราะเรารู้สึกว่าเรามาไกลมาก แล้วเรามาด้วยจักรยาน

จริงๆ มันมีทางที่ใกล้กว่านี้ค่ะ คือออกทางถนนป่าโทน แล้วยิงยาวไปเรื่อยๆ จนไปถึงถนนอู่ทองเลียบแม่น้ำป่าสัก ที่เป็นทางเข้าซอยท่าเรือ แต่เราไม่มีเวลาหลงทางแล้วอะ เอาทางที่ดูง่าย ดูซับซ้อนน้อยที่สุดดีกว่า ถึงมันจะดูอ้อมก็เหอะ

เราย้อนกลับไปทางเดิมที่เรามาค่ะ (อืม จริงๆ ก็ไม่เดิมเท่าไหร่ เราไม่ได้มาจากทางคลองท่อ แต่เรากลับทางคลองท่อ) เข้าถนนอู่ทอง แล้วยิงยาวไปเลยค่ะ ถนนจะวนขวาเข้าเลียบแม่น้ำป่าสัก ก็ปั่นต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงค่ะ

ตอนแรกก็ปั่นชิวๆ อยู่หรอกค่ะ แต่สำหรับคนที่ไม่ค่อยได้ปั่นจักรยานจริงจัง พอปั่นแบบ non-stop ไประยะนึงมันเริ่มไม่ไหวค่ะ แต่เราหยุดไม่ได้ เราต้องปั่นแข่งกับเวลา ขาก็ล้า ลมพัดมาเย็นสบาย แต่มันพัดเข้าหน้านี่สิ ต้องปั่นต้านลมไปอีกค่ะ อย่างที่บอกไว้ตอนแรกว่าเรามีจุดสังเกตคือป้ายร้าน Catwalk แต่ปั่นเท่าไหร่ก็ยังไม่เห็นป้ายสักที จนเกือบถอดใจไปหลายครั้งแล้วค่ะ ความกลัวตกรถไฟล้วนๆ ที่ทำให้สู้ต่อ สุดท้ายก็ไปถึงจนได้ ได้ยังไงก็ไม่รู้

กลับไปถึงร้านเช่าจักรยานแบบกระหืดกระหอบ พอลงจากจักรยาน ก้าวขาแทบไม่ออกเลยค่ะ ขาสั่นไปหมด พี่ที่ร้านก็เป็นห่วงเป็นใย น้องจะเป็นลมใช่มั้ย เข้าไปพักก่อนมั้ย ครั้งแรกก็อย่างงี้แหละ น้องเอารถไปนานมากเลยนะ ไม่เป็นไรค่ะพี่ หนูไม่ได้จะเป็นลม หนูแค่ขาแข็ง และหนูไม่อยากตกรถไฟด้วย

ตอนที่เรามาถึง เรือข้ามฟากจอดรออยู่พอดี เราอยากไปให้ทันรอบนี้ จนเกือบลืมบัตรประชาชนที่ทางร้านยึดไว้ตอนเช่าจักรยานแน่ะค่ะ พี่เขาก็บอกว่า ถ้าน้องลืมจริงๆ เดี๋ยวพี่ส่ง EMS ไปให้ คือดีอะ

เรือข้ามฟากใช้เวลาแป๊บเดียวค่ะ ก็ขึ้นมาจ่ายเงินที่ท่า แล้วรีบเดินไปสถานี ไปถึงก่อนเวลารถออกประมาณ 10 นาที เรารอดแล้ว!



เก็บรูปหน้าตรงของปู่ซะหน่อย ขากลับคุณปู่หมายเลข 850 จะเป็นผู้นำค่ะ รอบนี้รู้สึกคนน้อยๆ ไม่รู้เพราะเรามาเร็ว หรือเพราะเขาถ่ายกันจนเปรมแล้วกันแน่ และอีกอย่าง พวกที่ไปกับทัวร์เขาก็ไปรอขึ้นที่บางปะอินกันด้วยค่ะ บนรถนี่โหรงเหรงเชียว




พอรถออก เจ้าหน้าที่ที่สถานีก็มายืนโบกมือส่งกันแบบนี้ เหมือนตอนที่เขื่อนป่าสักค่ะ

รอบนี้มีฝรั่งติดมาด้วยค่ะ ตอนแรกเราก็งงๆ เรามั่นใจว่าบนรถเราไม่มีฝรั่ง แล้วทริปนี้เราว่าชาวต่างชาติน่าจะจองยากอยู่ค่ะ เพราะต้องโทรจองหรือไปจองที่สถานีเท่านั้น และต้องไปรับตั๋วภายในวันรุ่งขึ้นด้วย ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่ามีเอเจนท์รับจองมั้ย แต่แค่คนไทยก็ตบตีแย่งชิงตั๋วกันจะแย่แล้วค่ะ

คุณฝรั่งเป็นชายหนุ่ม มาคนเดียว หน้านางดูไม่มั่นใจ เหมือนสังหรณ์ว่าตัวเองจะขึ้นรถผิด แต่ก็นั่งต่อไป จนรถออก เจ้าหน้าที่มาตรวจตั๋ว ซึ่งก็ผิดจริง เจ้าหน้าที่ดูไม่เก่งอังกฤษเท่าไหร่ แต่ก็มีผู้โดยสารแถวนั้นมาช่วยคุยให้ค่ะ เขาก็แนะนำให้ลงที่สถานีบางปะอิน และรอขึ้นรถขบวนที่ถูกต้องไป แต่ไปๆ มาๆ ดูเหมือนเขาจะมีตั๋วเหลืออยู่อีก 2 ใบ เหมือนเพื่อนร่วมทริปเขาไม่ได้กลับด้วย เขาเลยยินดียกตั๋วที่เหลือนั่นให้คุณฝรั่งฟรีๆ แต่ฝรั่งต้องย้ายไปนั่งกับเขา เพราะเดี๋ยวเจ้าของที่จะขึ้นมาตอนรถจอดที่สถานีบางปะอินค่ะ

หลังจากเคลียร์เรื่องนี้ได้ เรารู้สึกว่าหน้าคุณฝรั่งดูสดใสขึ้นค่ะ เหมือนจะยิ้มเลยแหละ หลังจากที่ดูกังวลมาตลอด เราว่าเขาโชคดีมากนะ การมาขึ้นรถผิดในต่างประเทศที่ไม่ค่อยมีรถสาธารณะวิ่ง และคนไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก แถมยังเป็นตอนเย็นอีก เป็นรถพิเศษอีก คือปัจจัยทุกอย่างมันดูแย่ แต่ก็เจอเรื่องบังเอิญที่ช่วยให้รอดพ้นไปได้ด้วยดีน่ะค่ะ







พอถึงสถานีบางปะอิน พวกที่ไปกับทัวร์ก็ขึ้นมาเต็มรถเหมือนเดิมค่ะ ระหว่างทาง เจ้าหน้าที่ทัวร์ก็แจกอาหารว่างค่ะ รอบนี้เป็นข้าวต้มมัดกับเย็นเย็น


จริงๆ เราชอบข้าวต้มมัดนะคะ แต่กินแล้วมือเลอะง่ะ แต่ด้วยความหิว เราเลยไม่แคร์ เราใช้วิธีเช็ดคราบเหนียวๆ ออกให้หมดด้วยทิชชู่แห้งก่อน แล้วค่อยเช็ดด้วยทิชชู่เปียกซ้ำอีกทีค่ะ

ทิชชู่เปียกเป็นสิ่งที่ควรมีติดไว้เวลาเดินทางด้วยรถไม่ติดแอร์นะคะ นั่งไปสักพักคุณอาจเริ่มรู้สึกสกปรก ทั้งเหงื่อ ทั้งฝุ่น ทั้งควัน ทั้งน้ำมันจากผิวหนัง ผสมปนเปกันไปหมด ตอนกลับมาขึ้นรถเราก็เอาทิชชู่เปียกเช็ดแขนเช็ดคอไปบ้างเหมือนกัน ก็รู้สึกสบายตัวขึ้นมาหน่อยค่ะ ไว้ห่อนี้หมดเมื่อไหร่ว่าจะซื้อแบบที่เช็ดหน้าได้ด้วย







นั่งรถไฟไปเรื่อยๆ ปู่ทำเวลาได้ดีทีเดียวค่ะ แต่ดันมาตายที่รังสิตซะงั้น เห็นว่ามีปัญหาเรื่องระบบห้ามล้อ เจ้าหน้าที่รถไฟวิ่งกันหน้าเครียดเลยค่ะ เสียเวลาไปเป็นชั่วโมงเหมือนกัน สุดท้ายเลยตัดสินใจใช้เบอร์ 850 ลากหัวเดียวค่ะ ทั้งๆ ที่ใช้สองหัวช่วยกันลากมาตลอด แต่ก็ไหวนะคะ

อันนี้เราก็เข้าใจนะ คือมันเก่ามากแล้วอะ อะไรๆ ก็คงเสื่อมไปเยอะ ต่อให้ดูแลดีแค่ไหนก็มีโอกาสเสียกลางทางอยู่ดีค่ะ

ตามกำหนดการ รถจะกลับถึงสถานีกรุงเทพตอน 18:40 แต่กว่าจะมาถึงบางซื่อก็ 19:40 แล้วค่ะ เราตัดสินใจลงบางซื่อ จะได้ไม่เสียเวลา เพราะไม่ว่าจะบางซื่อหรือกรุงเทพ เราก็ต่อ MRT ได้ทั้งคู่ และเราอยากถ่ายรูปไอน้ำฟู่ๆ ตอนรถกำลังจะออกด้วยค่ะ


ตอนรถกำลังจะออกเสียงดังมากค่ะ นึกว่าหูจะดับซะแล้ว




และปู่ก็ออกเดินทางต่อไป ส่วนเราก็ไปขึ้นน้อง M(RT) กลับบ้านค่ะ


ทริปรถจักรไอน้ำย้อนวันวานที่อยุธยา ก็จบลงด้วยประการฉะนี้ค่ะ.

.

.

.

.

.

.

.

.

.


ยังค่ะ
เรายังไม่จบ สรุปให้นิดนึงละกันเนาะ


ทริปรถจักรไอน้ำ 
  • จัดปีละ 5 ครั้ง คือวันที่ 26 มี.ค./ 28 ก.ค./ 12 ส.ค./ 23 ต.ค./ 5 ธ.ค.
  • ไปอยุธยา นครปฐม หรือฉะเชิงเทรา แล้วแต่ว่ารอบไหนจะพาไปไหน
  • ประกาศรายละเอียดของแต่ละทริปล่วงหน้าประมาณ 1 - 2 เดือน ติดตามได้ที่เพจ ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือโทร 1690
  • ราคาแตกต่างกันออกไปตามจุดหมายปลายทางและแพ็คเกจ
  • จองตั๋วได้ทุกสถานีหรือโทรจองที่ 1690 แต่ต้องไปชำระเงินและรับตั๋วไม่เกินวันรุ่งขึ้น (ตั๋วรถท่องเที่ยวไม่สามารถจองออนไลน์ได้)
  • ตอนจองตั๋ว ต้องระบุชื่อและเลขบัตรประชาชนของผู้เดินทางด้วย
  • ตั๋วซื้อแล้วไม่รับคืน
  • ตอนลงจากรถ เอาของติดตัวไปให้หมด โดยเฉพาะของมีค่า หรือถ้าจะทิ้งของบางอย่างไว้ แนะนำให้วางไว้บนที่เก็บของเหนือศรีษะค่ะ เราทิ้งน้ำไว้บนที่นั่ง ยังไม่ได้กินเลย กลับมาไม่ได้ซื้อน้ำ กะมากินบนรถ น้ำหายไปแล้วค่ะ ซื้อใหม่ไม่ทันแล้วด้วย ดีที่ยังมีของเดิมเหลืออยู่นิดหน่อย อีกเจ้านึงนี่กระเป๋าใส่กล่องข้าวหายเลยแหละค่ะ พอรถจอดจะมีคนกลุ่มนึงขึ้นมา ดูเหมือนพวกเก็บขยะขายมากกว่าเจ้าหน้าที่ เหมือนขึ้นมาเก็บขยะบนรถ และอาจจะเอาของที่คว้าได้ง่ายๆ ไปด้วยค่ะ
  • ใครอยากไปอยุธยานอกรอบแบบไม่ต้องไปกับรถจักรไอน้ำก็ได้ การรถไฟเขาก็มีรถไฟไปอยุธยาเยอะแยะค่ะ เพราะมันเป็นทางผ่านของสายเหนือและสายอีสาน แถมยังเร็วกว่าด้วยค่ะ เข้าไป เช็คเวลาเดินรถและราคา จากในเว็บได้เลยค่ะ หรือจะโทร 1690 ก็ได้ เพื่อข้อมูลที่เป็นปัจจุบันที่สุดค่ะ



ทริปอยุธยา
  • การปั่นจักรยานเที่ยวอยุธยาไม่มุ้งมิ้งเหมือนปั่นจักรยานในสวนสาธารณะหรือเดินเล่นในย่านเมืองเก่าของลพบุรีนะคะ สถานที่ท่องเที่ยวของที่นี่อยู่โซนเดียวกันก็จริง แต่ก็อยู่ไกลเกินระยะเดิน เพราะฉะนั้น สำหรับจักรยาน มันก็ยังไกลระดับนึงค่ะ
  • แนะนำให้เที่ยวช่วงเช้าที่แดดยังไม่แรง ช่วงเย็นที่แดดร่มลมตก หรือช่วงหน้าฝนที่แดดไม่ดุเท่าหน้าร้อนหรือหน้าหนาวค่ะ แต่ก็ต้องไปรับความเสี่ยงกับฝนตกเอาเองนะคะ
  • การปั่นจักรยานเที่ยวกลางแจ้งช่วงกลางวันฤดูร้อนอย่างเราเป็นการกระทำที่ค่อนข้างบ้าระห่ำ ใครจะทำตามกรุณาเช็คสภาพร่างกายตัวเองก่อนนะคะ ฮีทสโตรกไม่ใช่เรื่องไกลตัว เรารู้ว่าประเทศไทยหน้าร้อนมันร้อนมาก แต่ไม่คิดว่ากลางแจ้งจะร้อนขนาดนี้
  • การแต่งกาย แนะนำให้แต่งตัวให้มิดชิดค่ะ เพราะสถานที่ท่องเที่ยวแถวนี้แทบจะมีแต่วัด นอกจากความสุภาพแล้ว ยังช่วยป้องกันผิวไหม้แดดได้เป็นอย่างดี เรารู้ว่าคนไทยอย่างพวกเธอกลัวดำ แถมผิวบางคนโดนแดดเผาแล้วแสบแดงด้วย และที่แน่นอนเลยคือมะเร็งผิวหนังค่ะ เลือกเสื้อผ้าที่ระบายเหงื่อ ระบายความร้อน ถ่ายเทอากาศได้ดี และแห้งเร็วนะคะ เดี๋ยวจะเป็นลมไปซะก่อน
  • หมวก ควรใส่ค่ะ เลือกที่ปีกกว้างๆ ที่ปิดหน้าได้เกือบหมด จะช่วยบังหน้าไม่ให้โดนแดดโดยตรงค่ะ ส่วนร่มก็แล้วแต่ค่ะ เราไม่ได้เอาไป เพราะหนัก และเราถือกล้อง(มือถือ)ถ่ายรูปตลอดเวลา ไม่มีมือถือร่มหรอกค่ะ
  • รองเท้า ใส่แบบปิดเท้าจะดีกว่าค่ะ เราเคยใส่รองเท้าแตะเที่ยวกลางแจ้ง อู้วหูวววว เป็นลายเลยค่ะ
  • น้ำต้องมีติดไว้ และคอยจิบเรื่อยๆ ค่ะ ยิ่งเหงื่อออกเยอะ ยิ่งช่วงอุณหภูมิร่างกายพุ่งขึ้นสูงๆ อย่าให้ขาดน้ำ ไม่ต้องกลัวเรื่องห้องน้ำค่ะ สถานที่ท่องเที่ยวระดับนี้เขาต้องมีให้อยู่แล้ว แต่เราว่ามันคงออกทางเหงื่อหมดแล้วหละ
  • เราย้ำเรื่องอากาศเยอะหน่อย เพราะมันร้อนทารุณมาก สิ่งสำคัญอีกอย่างคือสติค่ะ คอยสำรวจตัวเองว่าไหวมั้ย ไม่ไหวก็อย่าฝืน รีบเข้าร่มลดอุณหภูมิร่างกายก่อนค่ะ