วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ประเพณีชิงเปรต

ประเพณีชิงเปรต ประเพณีสารทเดือนสิบ เป็นประเพณีของทางภาคใต้ค่ะ โดยจะมีขึ้นในช่วงเดือนสิบ ตามปฏิทินจันทรคติ มักอยู่ในช่วงเดือนกันยายน โดยมีความเชื่อว่าบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วที่ได้กลายเป็นเปรตเพราะผลกรรมที่ทำไว้ในช่วงที่ยังมีชีวิตอยู่ จะได้รับอนุญาตให้กลับมายังโลกมนุษย์ได้ในช่วงวันแรม 1 ค่ำ ถึงวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ในช่วงนี้เหล่าลูกหลานก็จะทำบุญ จัดอาหารเลี้ยง รวมถึงจัดข้าวสารอาหารแห้งและของใช้จำเป็นไว้ให้นำกลับไปยังเมืองเปรตด้วยค่ะ



แต่ประเพณีชิงเปรตของทางภาคใต้ในแต่ละพื้นที่ก็จะมีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกันออกไป ของเมืองยอดฮิตที่จัดงานกันใหญ่โตอย่างนครศรีธรรมราชเราจะไม่พูดถึงก็แล้วกันนะคะ เพราะมันไกลตัวไป และยังไม่เคยไปสัมผัส แถมยัง (น่าจะ) หาได้ทั่วไปใน Google อีกด้วย เพราะฉะนั้น บล็อกนี้จะนำเสนอเกี่ยวกับประเพณีชิงเปรตของจังหวัดนราธิวาสกันค่ะ โฮะๆๆๆ ヽ(*´▽)ノ♪



สำหรับที่นราฯ นี้ จะเริ่มกันตั้งแต่วันขึ้น 15 ค่ำ ไปจนถึงวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ค่ะ กินเวลาทั้งหมด 3 วันพระด้วยกัน โดยจะมีงานบุญเลี้ยงเปรตกันทุกวันพระค่ะ


เริ่มจากวันพระแรก วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 วันนี้เป็นวันรับเปรต ก็จะจัดกันใหญ่โตหน่อย การจัดงานจะมีแพทเทิร์นเหมือนๆ กันทั้ง 3 วันพระ คือ ตอนเช้าทำบุญวันพระตามปกติ ประมาณ 9 โมงเช้าก็จะมีการตักบาตรอุทิศส่วนกุศลให้เปรต เหล่าลูกหลานก็จะจัดอาหารหวานคาวไปให้บรรพบุรุษที่เป็นเปรต โดยจะวางไว้บนร้านเปรต ที่ทำเป็นร้านสูงขึ้นไปให้สมกับตัวเปรต


ของที่จะเอาไปให้เปรตก็มีทั้งข้าว กับข้าว ผลไม้ ช่วงนี้จะเป็นหน้าผลไม้ค่ะ เงาะ มังคุด ลองกอง มะม่วงเบา เยอะมากกกกกกกกก เดี๋ยวจะมาบ่นๆ เรื่องผลไม้ต่อทีหลัง


ส่วนขนมก็จะมี...

ข้าวต้มมัด
อันนี้รู้จักกันดีอยู่แล้ว ผ่าน

ข้าวต้มสามเหลี่ยม
คล้ายๆ ข้าวต้มมัด แต่จะมีแต่ข้าวเหนียว ห่อเป็นรูปสามเหลี่ยม น่าจะเคยเห็นกันอยู่บ้าง

ขนมข้าวพอง
จะเหมือนๆ กับขนมนางเล็ดหรือข้าวแต๋น แต่ไม่ได้ราดน้ำตาล มักทำเป็นสีสันสดใส

ขนมเทียน
ขนมเทียนที่นี่จะเป็นแป้งเปล่าแบบแป้งขนมเข่ง ห่อเป็นแท่งยาวๆ เหมือนเทียน ส่วนขนมเทียนรูปสามเหลี่ยมใส่ไส้แบบที่เราคุ้นเคยกันที่นี่เขาจะเรียกว่าขนมนมสาวค่ะ

ขนมเจาะหู
เป็นขนมวงๆ ทอด เหมือนโดนัทจิ๋ว แต่รสไม่โดนัทนะคะ และหวานมากกกกกก เห็นเขาว่าถ้าน้ำตาลไม่ถึงมันจะไม่สำเร็จ เหมือนพัง เหมือนทำไม่ได้ ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่ามันจะพังในรูปแบบไหนนะคะ บางคนก็จะร้อยกับเชือกเป็นพวงมาเลย

ขนมปากเป็ด
ไม่แน่ใจเรื่องหน้าตา แม่บอกว่าเป็นขนมตามธรรมเนียมของทางนครฯ ที่นราฯ ก็ใส่บ้าง ไม่ใส่บ้าง แล้วแต่คนค่ะ

ขนมลา
น่าจะรู้จักกัน (รึเปล่า?) น่าจะเป็นขนมแป้งกับน้ำตาลเหมือนกัน เขาจะเจาะรูที่หยอดแป้งให้เป็นรูเล็กๆ เยอะๆ แป้งที่หยอดลงบนกระทะก็จะเป็นเส้นบางๆ หยอดวนๆ ทับๆ กันจนหนาระดับนึง แผ่นแป้งจะดูเป็นร่างแหเหมือนผืนผ้า พอสุกได้ที่ก็จะม้วนหรือพับ มีทั้งลากรอบและลานิ่ม แต่เท่าที่เห็นงานนี้เหมือนจะนิยมใช้ลานิ่มมากกว่า สำหรับขนมลาก็เป็นขนมตามธรรมเนียมของทางนครฯ เหมือนกันค่ะ ที่นราฯ ก็ใส่บ้างไม่ใส่บ้างแล้วแต่คน


นอกจากนี้ก็จะมีข้าวสารอาหารแห้ง เครื่องปรุงรสต่างๆ ห่อรวมกันด้วยใบกะพ้อเป็นรูปสามเหลี่ยม แต่ปัจจุบันนิยมใส่ถุงพลาสติกเพื่อความสะดวกค่ะ


ของพวกนี้คือของที่จะเอาไปให้เปรต โดยจะวางไว้บนร้านเปรตค่ะ ช่วงใกล้ๆ เที่ยง ก็จะเริ่มชิงเปรตกัน โดยการขึ้นไปแย่งอาหารพวกนี้บนร้านเปรตกันค่ะ สองวันพระแรกจะชิงกันแบบเบาๆ มีบันไดให้ปีนขึ้นไปชิงสบายๆ ส่วนวันพระสุดท้ายจะแกรนด์หน่อยค่ะ เพราะเป็นวันส่งเปรต ที่เราเคยไปก็เป็นวันพระสุดท้ายนี่แหละค่ะ





พุ่มไม้เดินได้นี่เขาก็เรียกว่าเปรตเหมือนกันค่ะ ถือบาตรเดินไปมาในวัดขอรับบริจาคเงิน




มีการประกวดพานขนมลา






พานพวกนี้จะทำจากขนมลาเป็นหลักค่ะ ตกแต่งด้วยขนมตามเทศกาล เช่น ขนมเจาะหู ข้าวพอง ข้าวต้มสามเหลี่ยม ใบตอง และดอกไม้เท่าที่หาได้






การประกวดขนมเจาะหู
ของเจ้านี้อร่อยมากค่ะ ไม่แปลกใจเลยที่ได้รางวัลที่ 1 ปกติขนมเจาะหูจะหวานมาก แต่ของเจ้านี้กลับหวานน้อย แถมยังใส่มะพร้าวอ่อนขูดให้เคี้ยวเล่นกรุบๆ ด้วย ( ´ ▽ ` )b

อ้อ ขนมรูปสามเหลี่ยมที่อยู่ข้างๆ นั่นแหละค่ะ ข้าวต้มสามเหลี่ยม






การแสดงรำโนรา




และไฮไลท์ของงาน การชิงเปรตค่ะ คราวนี้ไม่มีบันไดให้แล้ว ต้องปีนเสาขึ้นไป และที่ร้ายไปกว่านั้นคือ เขาจะเอาน้ำมันดำๆ ทาเสาไว้ค่ะ บนร้านจะมีของรางวัลวางไว้ให้ เช่น เหล้า ผ้าขาวม้า ใครขึ้นไปถึงเป็นคนแรกก็ได้ไป นอกจากนี้ยังมีเงินรางวัลเล็กๆ น้อยๆ ให้อีกด้วย



ร้านสูง





ร้านเตี้ย




มีคนขึ้นร้านเตี้ยได้แล้ว




พอขึ้นไปได้ก็จะโยนของลงมาแบบนี้ คนที่อยู่ข้างล่างก็ไล่เก็บกันสนุกสนานค่ะ ใครเก็บได้ก็เอากลับไปกิน ไปทำปุ๋ยต้นไม้ ไปแขวนไว้หน้าบ้าน ถือเป็นสิริมงคลค่ะ






ทางฝั่งร้านสูงก็ยังคงสู้ต่อไปค่ะ





สุดท้ายก็ไม่ไหวค่ะ ยอมแพ้ ให้เขาเอาบันไดมาพาดให้ปีนขึ้นไป ดูเหมือนว่าถ้ายอมแพ้แบบนี้จะไม่ได้เงินรางวัลหละค่ะ




ปิดท้ายด้วยรูปใบไม้เปลี่ยนสีที่วัดค่ะ


จริงๆ เขาเรียกว่าต้นใบไม้สีทองหรือย่านดาโอ๊ะค่ะ มีลักษณะเป็นไม้เลื้อย มีทั้งส่วนที่เป็นใบสีเขียวปกติ และใบเปลี่ยนสี ซึ่งจะอยู่ตรงปลาย ตอนแรกจะเป็นสีออกม่วงๆ ก่อน เขาเรียกว่าสีนาก (Pink Gold นั่นหละค่ะ) ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีทองในช่วงเดือนมิถุนายน - กรกฎาคม สุดท้ายจะเปลี่ยนเป็นสีเงินแล้วทิ้งใบ เราไปช่วงต้นเดือนกันยายน ใบส่วนใหญ่เลยกลายเป็นสีเงินเกือบหมดแล้วค่ะ เหลือสีทองตรงปลายสุดนิดๆ


ต้นใบไม้สีทอง จะอยู่ในแถบปัตตานี ยะลา นราธิวาส โอ้โห พื้นที่สีแดงทั้งนั้นเลยค่ะ ( ̄▽ ̄;)

เห็นอย่างงี้แต่ก็เป็นพืชเศรษฐกิจของทางนั้นเขาเหมือนกันนะคะ เขาจะนิยมเอาใบมาอัดใส่กรอบขายเป็นของตกแต่งบ้านค่ะ บางครั้งก็มาออกร้านในงาน OTOP ตามห้างในกรุงเทพอยู่บ้างเหมือนกัน เราเคยเจอที่ Terminal 21 อยู่ครั้งนึงหละ








มาบ่นๆ เรื่องผลไม้กันต่อค่ะ เราก็พอจะรู้ว่าญาติเราทางนั้นเป็นชาวสวนซะส่วนใหญ่ แต่ไม่คิดว่าเขาจะปลูกเงาะ มังคุด ลองกองไว้เยอะขนาดนี้ แม้กระทั่งต้นไม้ใหญ่ๆ ในเขตรั้วบ้านที่เราประทับใจมาก เพราะมันทำให้บ้านเย็น ก็เป็นต้นผลไม้พวกนี้ แต่เราไม่เคยรู้ว่าเป็นต้นอะไร เพราะเรามักจะไปช่วงเดือนเมษายน ซึ่งมันยังไม่ออกลูก พวกนี้จะออกช่วงเดือนสิงหาคม - กันยายนได้มั้งคะ


พอได้ไปช่วงหน้าผลไม้ก็พบว่ามันเยอะมากจริงๆ และน่าเสียดายที่เขาปล่อยทิ้งให้มันร่วงเต็มโคนต้น จะว่าเป็นของเสียก็ไม่เชิง เพราะสุดท้ายมันก็กลายเป็นปุ๋ย พอถามว่าทำไมไม่ขาย เขาบอกว่าไม่มีคนมารับซื้อ หรือถ้าจะมีคนมารับ เขาก็รับในราคาถูกมาก ไม่คุ้มค่าจ้างคนปีนขึ้นไปเก็บ ตอนแรกเราก็นึกว่าเอาไม้สอยได้ แต่ถ้าต้องปีนอย่างงี้ ต่อให้ขึ้นกันเองในครอบครัวก็คงไม่ไหว เพราะมันเยอะ ก็คงต้องจ้างคนอื่นมาช่วยด้วยหละค่ะ แต่บางบ้านที่มีเวลา และมีบ้านติดถนนใหญ่ เขาก็เอามาตั้งขายหน้าบ้านกันนะคะ


ส่วนปีนี้เหมือนเราจะเห็นผลไม้ใต้ขึ้นมาขายที่กรุงเทพเยอะเหมือนกันค่ะ ที่ Tops ก็เหมือนจะมีขายด้วย ก็หวังว่าปัญหาเรื่องขายไม่ได้ ราคาขายต่ำกว่าทุนจะบรรเทาลงบ้างนะคะ ผลไม้ใต้อร่อยมากค่ะ เรามีโอกาสได้แพ็คลองกองด้วย มีคนมาสั่งพอดี น้าเราก็ไปเก็บมาให้เรากับแม่แพ็ค นั่งแพ็คไปกินไป อิ่มเลยค่ะ ( ̄▽ ̄)


ส่วนนี่คือรูปต้นลองกองค่ะ เผื่อใครไม่เคยเห็น เราเห็นทุกครั้งที่ไปที่นั่น เพราะมันอยู่หน้าบ้านน้า แต่เพิ่งจะรู้ว่าเป็นต้นลองกองก็ตอนที่เห็นลูกมันนี่แหละค่ะ (^_^)






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น