วันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2559

Summer in Japan Part 4.2 : Kinkaku-ji

จากตลาดนิชิกิ ข้ามถนนกลับไปอีกฝั่ง แล้วขึ้นบัสสาย 12 ไปลงที่สถานีคินคะคุจิ (金閣寺: Kinkaku-ji) ค่ารถ 230 เยนตลอดสาย จะจ่ายด้วยเงินสดหรือ IC Card ก็ได้ ตอนขึ้นให้ขึ้นประตูกลาง แล้วลงทางประตูหน้า ใครมีบัตรก็สแกนตรงประตูได้เลย ถ้าจ่ายเงินสดแต่มีเงินไม่พอดีให้แลกเงินก่อน เพราะจะไม่มีการทอนเงิน เครื่องแลกเงินก็อยู่ที่เดียวกับที่จ่ายเงินนั่นแหละค่ะ แค่เป็นคนละช่องกัน คนขับก็คอยดู คอยแนะนำให้ตลอด


ขึ้นไปก็หาที่นั่งค่ะ ที่นั่งบนรถ City Bus ญี่ปุ่นมีไม่มากนัก น่าจะพอๆกับรถเมล์ขสมก.ที่วิ่งในกรุงเทพแหละ ตรงจุดที่เรานั่งเหมือนจะเป็น priority seat ด้วย นั่งไปได้ประมาณ 10 นาทีก็มีคุณตาคนนึงขึ้นมา เราก็ลุกให้เขานั่ง คุณตาขอบคุณเราใหญ่เลย ก็ห้อยโหนอยู่บนรถไปหลายสิบนาทีเหมือนกัน คุณตาถึงลุกขึ้นเพื่อลงรถ แถมยังมาสะกิดให้เรากลับไปนั่งด้วย แต่ยังไม่ทันได้นั่งก็โดนคนหนุ่มสาวฉกที่นั่งไปซะก่อน ฮึ่มมมมมมม ฉันก็เมื่อยเป็นนะเฮ้ย สุดท้ายก็ห้อยโหนต่อไปอีกหลายสิบนาทีจนกระทั่งถึงป้ายคินคะคุจิ จากตลาดนิชิกิที่อยู่ห่างจากสถานีเกียวโตไม่มากนักมาที่นี่ก็ไกลเอาเรื่องเหมือนกันนะ เป็นชั่วโมงได้เลยมั้ง





มาถึงใช่ว่าจะถึงเลยนะคะ ต้องเดินเข้าไปอีก แต่เนื่องจากที่นี่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของเกียวโตจึงมีคนลงเยอะ เราก็เดินตามๆเขาไปนั่นแหละค่ะ แต่ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าอะไรดลใจให้เราเดินตามสาวยูกาตะสองคนนี้แทนที่จะเดินตามคนกลุ่มใหญ่ไป ทางที่เราเดินตามพวกนางไปเหมือนจะอ้อมกว่า และเงียบกว่าด้วย คงเพราะมันไม่ใช่ทางหลัก เราจำได้ว่าเราเห็นป้ายบอกทางแว้บๆอยู่ข้างหน้าเหมือนกัน และเหมือนมันจะชี้ไปอีกทาง





เข้าเขตวัดแล้วค่ะ วัดที่นี่ร่มรื่นดีจริงๆ


เนื่องจากเป็นสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังของเกียวโต จึงมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากแม้เป็นวันธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นพวกที่มากันเองหรือมาเป็นกรุ๊ปทัวร์



เดินตามเขาไปค่ะ





และแล้วเราก็มาถึงที่ขายตั๋วเข้าวัด
ผู้ใหญ่ (16 ปีขึ้นไป) 400 เยน
เด็ก (7 - 15 ปี) 300 เยน
เด็ก (ต่ำกว่า 7 ปี) เข้าฟรี




จ่ายค่าเข้าแล้วก็จะได้สิ่งนี้มา พี่ชาย ฉันอ่านไม่ออกเลย มันคืออะไรกันเนี่ย
แล้วก็ได้แผ่นพับข้อมูลสถานที่ที่ให้ข้อมูลเป็นภาษาญี่ปุ่น อังกฤษ จีน และเกาหลีมาด้วย





ศาลาทองที่เป็นไฮไลต์ของวัดทองนี้ สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1397 เพื่อเป็นที่พำนักของโชกุนอาชิคางะ โยชิมิสึ (足利義満: Ashikaga Yoshimitsu) โชกุนคนที่ 3 ของยุคมุโรมาจิ หลังจากโชกุนโยชิมิสึเสียชีวิต ก็ถูกเปลี่ยนเป็นวัดทางศาสนาพุทธนิกายเซ็น โดยใช้ชื่อว่า วัดโรคุอง (鹿苑寺: Rokuon-ji) แต่กลับเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในชื่อ วัดคินคาคุ (金閣寺: Kinkaku-ji) เพราะศาลาทองที่เป็นจุดเด่นของวัด






อีกฝั่งหนึ่งของทางเดินไปสู่ศาลาทองเป็นกุฏิเจ้าอาวาส ถัดเข้าไปข้างในจะเป็นกุฏิของพระลูกวัด



วันนี้ร้อนจริงจังค่ะ ตรงไหนไม่มีต้นไม้ให้ร่มเงานี่ร้อนพอๆกับไทยเลย แล้วคนเยอะมาก ตอนถ่ายศาลาทองต้องหาทางแทรกๆ เข้าไปแถวหน้า ไม่งั้นติดคน รีบถ่ายแล้วก็รีบออกมาให้คนอื่นเขาถ่ายมั่ง



ตัวศาลาทองชั้น 2 และ 3 ปิดด้วยแผ่นทองคำบริสุทธิ์ บนยอดหลังคาประดับด้วยรูปหล่อทองคำของนกโฮโอ ใช้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปและโบราณวัตถุอันมีค่า แต่ดูเหมือนจะไม่ได้เปิดให้เข้าชมนะคะ



วัดโรคุองนี้ถูกเผาทำลายไปหลายครั้งในระหว่างสงครามโอนิง นอกจากนี้ ในปี 1950 ศาลาทองยังถูกเผาทำลายไปอีก และได้สร้างขึ้นใหม่อีกครั้งในปี 1955 ต่อมาในปี 1994 วัดโรคุองก็ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก





เดินต่อไปเรื่อยๆ จะมีซุ้มขายเครื่องราง มีเครื่องรางช่วยในเรื่องต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการงาน การเรียน สุขภาพ ความรัก มีป้ายเป็นภาษาอังกฤษกำกับไว้หมด แล้วคือเครื่องรางญี่ปุ่นมันน่ารักอะคุณ เลยเป็นจุดที่มีคนมารุมเยอะมาก เราเองก็ซื้อมา 4 อัน ล่อไปเกือบสองพันเยน


 เครื่องรางจากคินคะคุจิ
สุขภาพดี อายุมั่นขวัญยืน >> ขับขี่ปลอดภัย >> ประสบความสำเร็จ >> เงิน





เดินต่อไปเรื่อยๆ ตามเส้นทางเดินสำหรับนักท่องเที่ยว ก็จะเจอเรือนน้ำชาเซกกะเทย์ (夕佳亭: Sekka-tei) สร้างขึ้นตั้งแต่ยุคเอโดะ ในช่วงเย็น ศาลาทองที่มองเห็นได้จากจุดนี้จะดูงดงามที่สุด และนี่ก็เป็นที่มาของชื่อเรือนน้ำชานี้ค่ะ







เดินต่อมาจนใกล้ทางออก จะมีศาลฟุโดโด (不動堂: Fudou-dou) เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหิน ที่เชื่อว่าสร้างขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 9 ให้ผู้มีจิตศรัทธาได้สักการะ ปกติจะไม่เปิดให้คนทั่วไปได้เห็น ยกเว้นในวันเซ็ทสึบุน (วันเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ อยู่ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์) และวันที่ 16 สิงหาคม




แล้วก็มาถึงทางออก ข้างทางมีตู้ขายน้ำกับไอติมแบบหยอดเหรียญตั้งเรียงราย



เดินลงบันไดนี้ไป แล้วเดินไปตามทางที่เขาจัดไว้ให้ ก็จะเจอจุดบริการนักท่องเที่ยวก่อนถึงทางออก มีห้องน้ำให้บริการ รวมไปถึงร้านขายของที่ระลึกและร้านขายของว่างเล็กๆน้อยๆด้วย



ซอฟต์ครีมชาเขียวจากร้านที่จุดบริการนักท่องเที่ยว ราคา 350 เยน มีให้เลือกประมาณ 3-4 รส จำได้ว่ามีชาเขียวกับงาดำและรสอะไรอีกสักรสสองรส






เวลาเปิดทำการ
เปิด 9:00 - 17:00



การเดินทางโดย Kyoto City Bus จากสถานที่ต่างๆ (ตัวเลขที่เป็นตัวหนานั่นคือสายรถนะคะ)

◼ Shokoku-ji/ Kyoto Imperial Palace/ Keihan Sanjou Station » 59
◼ Ginkaku-ji » 102, 104
◼ Nijou Castle/ Hankyu Shijo Karasuma Station » 12, 101
◼ Kyoto Station » 101, 205
◼ Gion/ Kiyomizu-dera » 12
◼ Daitoku-ji » 101, 102, 204, 205, M1
◼ Ryoan-ji/ Omuro Ninna-ji » 59
◼ Arashiyama (ขึ้นรถราง Randen มาลงที่สถานี Kitanohakubaicho แล้วเปลี่ยนเป็นบัส) » 204

**ไม่มีรถใช้รางใดๆ เข้าถึงนะคะ ถ้าจะไปเองไม่ง้อทัวร์ก็ไปไฝว้กับบัสเอาค่ะ ก็สนุกไปอีกแบบ Google Map ยังคงพึ่งพาได้ ไม่พาหลงแบบของไทยแน่นอนค่ะ










ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น